กระทู้นี้ผมอยากบอกเล่าเรื่องราวของผม ขอย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผมมีความคิดอยากจะถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกขึ้นมา ผมจะค่อยๆ เล่า ค่อยๆ โพสต์ไปจนกว่าโปรเจคที่ผมตั้งเป้าหมายไว้สำเร็จ คือ ถ่ายฟิล์มกระจกครบ 77 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันนี้ผมถ่ายไปแล้ว 13 จังหวัด
เรื่องมีอยู่ว่า ราวๆ เดือน เม.ย. 2561 ผมไปบังเอิญเปิดคลิปในยูทูปดูไปดูมาไปเจอการปริ๊นท์ภาพด้วยไข่ขาว หรือกระบวนการ Albumen Print ผมรู้สึกทึ่งมากว่าทำได้ไง แล้วฟิล์มที่นำมาปริ๊นท์คือฟิล์มกระจก ตั้งแต่ตอนนั้นผมตั้งปณิธานกับตัวเองเลย ว่าสักวันผมต้องถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกให้ได้
ผมใช้เวลาหาข้อมูลในอินเตอร์เนต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเวบนอก และถามผู้รู้ที่เต็มใจจะแบ่งปันความรู้ (ยังมีอีกเยอะที่ค่อนข้างจะหวงวิชา) ซื้อสารเคมีต่างๆ มาลองทำ ลองผิดลองถูก ใช้เวลาศึกษาและทดลองอยู่เป็นเวลา 5 เดือน ทำเรื่อยๆ มีเวลาว่างก็มาทดลองทำ (ไม่ได้ทำทุกวันนะ) เจออุปสรรคหลายครั้ง เคยมีครั้งนึง เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ก็ยังไม่มีภาพบนกระจก เหมือนเอาเงินค่าสารเคมีมาทิ้งเล่นๆ (แต่คิดอีกแง่ก็เหมือนเป็นค่าบทเรียนที่ต้องเรียนรู้) มีท้อบ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ล้มเลิก ทำมันไปเรื่อยๆ หาสาเหตุจากข้อผิดพลาดแล้วแก้ไข กว่าจะทำได้นี่ยากพอตัวเลย
จนทำสำเร็จได้ฟิล์มกระจกแผ่นแรก ในวันที่ 30 ตุลาคม 2561 เป็นภาพเทศกาลชักพระที่บ้านเกิดผม สุราษฎร์ธานี วันสุดท้ายของเทศกาลพอดี วันนั้นผมลุ้นมากภาวนาให้ฝนไม่ตก เพราะฟ้าครึ้มตลอดทั้งวัน ผมออกไปถ่ายช่วงบ่าย จัดของ กางห้องมืด เตรียมน้ำยา กว่าจะได้ถ่ายก็เกือบ 4 โมงเย็น ต้องมาลุ้นถ่ายให้ทันก่อนแสงจะหมดอีก (ถ่ายฟิล์มกระจกชอบแดดจัดๆ แรงๆ และจะไวต่อแสง UV เท่านั้น) จนสุดท้ายก็ได้ภาพที่สมบูรณ์มาเพียง 1 ภาพเท่านั้น พอผมถ่ายเสร็จเก็บอุปกรณ์ขึ้นรถจนหมด เท่านั้นแหละ ฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ทันที เหมือนฟ้าจะเมตตา รอให้ผมถ่ายภาพจนสำเร็จก่อน อ้อ ลืมบอกว่าอันนี้แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคลนะ แต่ก่อนที่ผมจะถ่ายภาพฟิล์มกระจกทุกครั้งผมจะยกมือไหว้ ขอให้การถ่ายภาพสำเร็จไปได้ด้วยดีทุกครั้ง เพราะตัวแปร และปัจจัย กว่าจะได้ภาพมันเยอะจริงๆ ครับ


ด้านบนนี่คือภาพฟิล์มกระจกใบแรกที่ผมทำสำเร็จสมบูรณ์ เป็นเทศกาลชักพระสุราษฎร์ธานี งานใหญ่ประจำปีของบ้านเกิดผม ภาพนี้มันจึงมีความหมายกับผมมากๆ


(ขอบคุณภาพจากพี่เจี๊ยบ Piamsak Pansumdang และพี่น้อง รักเอย สุราษฎร์ธานี ครับ)

ภาพเบื้องหลังเพิ่มเติมตอนถ่ายฟิล์มกระจกงานชักพระฯ ขั้นตอนสำคัญขณะที่กำลังเทสาร Collodion ครับ
หลังจากภาพแรกเสร็จสมบูรณ์ ผมรู้สึกภูมิใจและเห็นคุณค่าในงานถ่ายภาพแบบนี้มากๆ ประกอบกับการที่ผมชอบเดินทางอยู่แล้ว การเดินทางมันทำให้ผมเรียนรู้อะไรเยอะมาก ผมจึงคิดโปรเจคที่อยากจะทำขึ้นมา นั่นคือ โปรเจคที่มีชื่อว่า
"ผมจะถ่ายฟิล์มกระจกให้ครบ 77 จังหวัด"ตอนนี้ผมถ่ายจังหวัดอะไรไปบ้างแล้ว ณ เวลานี้ ผมถ่ายไปแล้ว 13 จังหวัด ดังนี้ครับ
1. สุราษฎร์ธานี
2. ภูเก็ต
3. กระบี่
4. สงขลา
5. พัทลุง
6. ตรัง
7. นครศรีธรรมราช
8. ระนอง
9. พังงา
10. เชียงราย
11. เชียงใหม่
12. ลำปาง
13. ลำพูน
ส่วนรายละเอียดแต่ละสถานที่ แต่ละจังหวัดต่างๆ ผมจะมาทะยอยเล่าให้ฟังนะครับ
ให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดนึงครับ จะได้รู้จักการถ่ายภาพฟิล์มกระจกเปียกกันมากขึ้น
เทคนิคการถ่ายภาพที่ผมใช้คือการถ่ายภาพฟิล์มกระจกแบบเปียก (Wet Plate Collodion)
คิดค้นโดย Frederick Scott Archer ในปี ค.ศ.1851
วิธีการถ่ายโดยสรุป คือ เป็นการถ่ายภาพที่ต้องถ่ายในขณะที่เพลทกระจกยังเปียกอยู่ และต้องทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่การฉาบสารไวแสงลงบนกระจก การถ่าย และการสร้างภาพ ที่สำคัญคือต้องมีห้องมืด หรือสมัยก่อนเรียกกระโจม ติดไปด้วยทุกที่
การถ่ายภาพแบบนี้เข้ามาในไทยสมัย ร.4 และได้รับความนิยมมาก จนถึงยุคต้น ร.5 ก็ได้มีวิวัฒนาการ การถ่ายภาพมาเป็นฟิล์มกระจกแบบแห้ง (Dry Plate) เพื่อความสะดวก ไม่ต้องทำสด ลดความยุ่งยากและข้อจำกัดกัดหลายๆ อย่าง ของฟิล์มกระจกแบบเปียก
ประมาณนี้นะครับ สั้นๆ ถ้าท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเรื่องประวัติศาสตร์การถ่ายภาพก็สามารถหาอ่านได้ในเนตเลยนะครับ ถ้าผมเอามาลงในนี้ทั้งหมดมันจะยาวมาก 555+