เรื่องโดย akinson149
สวัสดียามเย็นสมาชิกทุกท่านนะคับ(หลังจากที่ผมหายหน้าหายตาไปนาน หุหุ)..ขออนุญาตินำเสนอบทความนึงซึ่งอาจพอมีประโยชน์บ้างในเวลาที่ผลงานของฟุตบอลไทยกำลังตกอยู่ภายใต้ห้วงเเห่ง "ความไม่แน่นอน"
ท่ามกลางความวุ่นวายของการสรรหาหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่ของทีมชาติไทย ชุดปรีโอลิมปิก เเละคำว่า "ผอ.เทคนิค" หรือ Football Director ที่ผุดขึ้นมา พร้อมกับคำถามที่ว่าเขาคนนี้คือใคร? เเละจะเข้ามาทำอะไร? บทบาทจะทับซ้อนกันกับประธานเทคนิดคนเก่าหรือไม่? เเละอนาคตทีมชาติไทยจะไปในทิศทางแบบไหนหลังการเข้ามาของเขาผู้นี้
หากพี่ๆน้องๆ พอจะมีเวลาสักหน่อย หรือ อาจหลวมตัวเข้ามาอ่านบทความของผมเเล้ว (หุหุ) ก็อยากให้ท่านลองอ่านไปพลาง วิเคราะห์ไปพลาง (เเบบเพลินๆ) กับสิ่งที่ผมกำลังจะนำเสนอให้ท่านได้อ่านหลังจากนี้ บางทีคำตอบของคำถามด้านบนอาจมีอยุู่ในนั้นก็อาจเป็นได้
ฟุตบอลเอ็นเตอร์เทรนVSบอลหวังผลกับหัวหน้าเชฟที่(กำลัง) เข้ามาใหม่เคยมีคนตั้งคำถามที่ว่า ทุกวันนี้เราดูฟุตบอลกันเพราะอะไร? และคนส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่า ความสนุกและเร้าใจไงเล่า! ถามมาได้
ประเด็นมันอยู่ที่ว่า นิยามของคำว่า สนุกและเร้าใจ ในแบบของคุณ คือแบบไหนล่ะ? ระหว่างช้อยส์แรก: ได้ดูทีมโปรดของคุณลงสนามและเล่นได้อย่างน่าตื่นเต้น ทั้งรวดเร็ว ดุดันและวูปวาป หลายครั้งที่มีการต่อบอลที่สวยงามหลายจังหวะ, ลูกฟุตบอลดูรื่นไหลไปหมดทั่วสนาม และทีมโปรดของคุณได้ประตูอย่างเป็นกอบเป็นกำ ถึงแม้ว่าแมทช์นั้นคุณอาจจะไม่ใช่ ผู้ชนะ
ช้อยส์ที่สอง: ได้ดูทีมโปรดของคุณลงสนามและเล่นฟุตบอลแบบน่าเบื่อ เน้นรัดกุม, ระมัดระวังและพยายามที่จะเก็บบอลไว้กับตัวตลอดเวลา โดยถือคติที่ว่าคลีนชีตคือเป้าหมายหลัก และเมื่อทีมโปรดของคุณยิงได้ แม้มันจะเป็นเพียงแค่ประตูเดียวตลอดทั้งเกมแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้คุณมั่นใจว่า วันนี้เราน่าจะมีแต้ม
คุณจะเลือกแบบไหนล่ะ?
มีหลายท่านคงตอบแบบเอากำปั้นทุบดินว่า เอาทั้งสองอย่างสิ ไม่เห็นจะยาก
ใช่ครับ! ใครๆก็ต่างต้องการอย่างนั้นแต่มันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นั่นเพราะฟุตบอลสมัยนี้เปรียบเสมือนโชว์ชนิดหนึ่งที่แน่นอนว่าต้องการยอดผู้ชม และยิ่งยอดผู้ชมที่ว่ามีมากเท่าไร นั่นคือ ที่มาของจำนวนเงินมหาศาลที่จะไหลเข้าสโมสร, องค์กร หรือสมาคมฯ แถมเราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามตลอด90นาทีนั้น ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ชม (ติดตามต่อหรือเลิกติดตาม)
โค้ชทุกคนบนโลกใบนี้จึงมีคำตอบในใจไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่าน นั่นคือ อยากได้ฟุตบอลแบบที่เรียกแขกได้และที่สำคัญ ถ้วยรางวัลก็ยังต้องมี เพราะพวกเขาทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เจ้าของสโมสร, องค์กรและสมาคมฯตกลงไว้ ดังนั้นแล้วเขาเองก็ย่อมอยากได้ทั้งฐานแฟนบอลและถ้วยโทรฟี่
คำถามต่อมาเพื่อให้ลึกเข้าไปอีกซักหน่อย คือ หากการเลือกแบบใดแบบหนึ่งจะนำมาซึ่งผลที่ต่างกันล่ะ? เช่น หากชอยส์แรก ปลายทางคือ ทีมของคุณสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้ซักแชมป์แถมบางทัวร์นาเม้นต์อาจตกรอบแรกเอาแบบดื้อๆ คุณจะยังรู้สึกสนุก, มันส์และเร้าใจ ในการรับชมทีมของคุณลงเล่นในทัวร์นาเม้นต์นั้นๆอยู่ไหม ในขณะที่ช้อยส์หลัง ในหลายๆทัวร์นาเม้นต์ มีบ้างที่ทีมของคุณได้เข้าถึงรอบลึกๆ มีบ้างได้ลุ้นแชมป์ แต่ตลอด90นาทีไม่มีอรรถรสในการรับชมเลย แต่อย่างน้อย..คุณก็ได้สนุกกับการลุ้นว่าทีมของคุณจะไปได้ไกลแค่ไหนในทัวร์นาเม้นต์นี้
มองในมุมกลับกัน หากผมจะย้อนถามในอีกมุมนึงว่า การได้ดูทีมรักลงเล่นกับคู่แข่งชนิดสู้แบบดุดันและเต็มไปด้วยความหิวกระหายในประตู แม้ทีมรักของคุณอาจไม่ใช่ผู้ชนะในวันนี้ แต่แมทช์นั้น คุณก็ได้โมเม้นท์แบบจัดเต็มทุกอณู พร้อมด้วยความรู้สึกที่ว่า คุ้มค่ากับช่วงเวลาและค่าตั๋วที่เสียไป มิใช่หรือ?
กับอีกแบบนึงที่คุณตีตั๋วเข้ามาดูทีมรักและบรรยากาศในเกมเต็มไปด้วยความอึดอัด และหากโชคดี ทีมของคุณเกิดทำประตูได้ แม้เพียงประตูเดียวก็อาจปิดบัญชี คุณจะยังพอใจกับสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นในสนาม แบบนั้นมั้ย?
คุณคงมีคำตอบอยู่ในใจและไม่ว่าจะเลือกชอยส์ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพธ์จะออกมาตามที่หวัง แต่ที่แน่ๆ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์ให้น่าศึกษาน่าค้นคว้า และการบาลานซ์สองช้อยส์ที่ว่าก็ถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ (และน้อยคนที่จะทำมันได้สำเร็จ)
ฟุตบอลเเละห้องครัว
หากเราเปรียบโค้ชเป็นเชฟใหญ่ (Chef de Cuisine) ที่มีหน้าที่หลักๆคือ สรรหาวัตถุดิบและนำมาประกอบเป็นอาหารให้ได้รสชาติที่ถูกอกถูกใจ ไม่ว่าจะทั้งเผ็ด-เค็ม-เปรี้ยว-หวาน ต้องผสมผสานออกมาเป็นจานๆให้ดี แล้วผอ.เทคนิคล่ะ..คือใคร?
เราอาจเปรียบเป็น Executive chef ที่งานหลักๆ หนักไปทางอยู่เบื้องหลัง เช่น คิดสูตรอาหารใหม่, ออกแบบสไตด์ของเมนู (จะ Fusion/ Huate/ Nouvelle หรือ Vegen cuisine ดี) และบางครั้งอาจรวมไปถึงการเป็นที่ปรึกษาให้แก่เชฟใหญ่ หรืออาจผันตัวเองเป็นนักชิมที่ดีให้เชฟก็ได้ (ที่แน่ๆ นั่นคือ เขาคนนี้ต้องรู้วิธีปรุงอาหารและระบบการทำงานในห้องครัวเป็นอย่างดี)
ในเนื้องานส่วนหนึ่งของผอ.เทคนิคที่ว่า (หากจ็อบเป็นแบบสากลที่หลายๆชาติเขาทำกัน) การทำงานร่วมกันกับเฮดโค้ชเพื่อคิดค้น-ค้นหารูปแบบการเล่นที่เฉพาะและเหมาะสมให้แก่ทีมชาติไทยในทุกชุด ถือเป็นงานชิ้นแรกๆที่นายคนนี้จะต้องเข้ามาดูแล
ร้านอาหารจะขายดีได้ นอกจากอาหารจะถูกปากคนส่วนใหญ่แล้ว มาตราฐานของรสชาติจะต้องเสมอต้นเสมอปลาย (ไม่ใช่เมื่อวานออกเค็ม วันนี้ออกหวาน) และในฟุตบอล มาตราฐานในแนวทางการเล่นของทีม ไม่ว่าโค้ชจะเลือกใช้ระบบไหนก็ย่อมต้องคงเส้นคงวาเช่นกัน (ไม่ใช่เล่นดีวันที่เจอทีมใหญ่ และมักหวั่นไหวในวันที่เล่นกับทีมรอง)

จริงๆเเล้วในยุโรปกับตำแหน่งผอ.เทคนิกที่ว่าก็ถือว่ามีมานานเเล้วเเละส่วนใหญ่ งานของหมอนี่ก็มักหนักไปทางการอยู่เบื้องหลังเเละเน้นงานจำพวกดีลต่างๆ ตั้งเเต่เล็กไปถึงใหญ่ เเละดีลที่ผมว่าก็ไม่ใช่เเค่การหานักเตะหรือโค้ช เเต่ในบางครั้งมันยังเป็นเรื่องของเงินทองๆที่จะเอาเข้าสโมสรหรือองค์กรไปด้วยในตัว เเถมใครจะไปรู้อีกล่ะว่างานด้านสถิติเเละสเก้าท์ก็ถูกหมอนี่ควบคุมดูเเลอยู่เช่นกัน ดังนั้น"การปั้นดินให้เป็นดาว" หรือทำสิ่งที่ "เป็นไปไม่ได้ให้มันเป็นไปได้ (make an ideal to realistic)" จึงเป็นเป้าหมายหลักๆของนายคนนี้
ผมขอยกตัวอย่างความสำเร็จของทีมในยุโรปกับการเข้ามาของ "ผอ.เทคนิกที่มีฝีมือเเละมากด้วยประสบการ์ณ" ตัวอย่างมีให้เห็นนั่นคือ ทีมเล็กๆอย่าง RB Leipzig สโมสรที่มีขนาดไม่ใหญ่มากในบุนเดสลีกาเเละ Red Bull Salzburg ในออสเตรีย ที่ตำแหน่งหัวหน้าเซฟมีชื่อของ Ralf Rangnick ชายวัยใกล้60 ทำงานอยู่เบื้องหลัง


ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ราฟเชื่อว่า ฟุตบอลสมัยใหม่ต้องวัดกันที่การถ่ายเทบอลที่รวดเร็วเเละการเข้าทำต้องสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาสบนสนาม เเละด้วยเจ้าของของทั้งสองสโมสรคือคนๆเดียวกัน (ทั้งไลป์ซิคเเละเร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก) ชายผู้นี้จึงได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาจัดการทั้งสองทีมใหม่ เเละเจ้าตัวก็เลือกที่จะเริ่มงานของเขาด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการเล่น โดยได้ระบุลิสรายชื่อของโค้ชที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะกับปรัชญาของเขา จนนำไปสู่การได้มาของ Roger Schmidt ที่ซัลซ์บวร์ก เเละ Ralph Hasenhuttl ที่ไลป์ซิก ซึ่งทั้งสองคนเป็นโค้ชฟุตบอลที่เน้นเกมบุกเเละทำฟุตบอลโดยเน้นมิติของทรานซิชั่น (เเน่ล่ะซิ.. คนนึงคืออดีตศูนย์หน้า ส่วนอีกคนก็เป็นอดีตกองกลางตัวรุก)
ผลผลิตของการปั้นดินให้เป็นดาว อย่าง ซาดิโอ มาเน่, โจชัว คิมมิช เเละ นาบี เกอิต้า ก็มาจากเขานี่เเหละ เเละด้วยคอนเซ็ปต์ฟุตบอลของราฟนั้น ฟุตบอลของเขาต้องมีการถ่ายเทบอลไปทั่วสนาม ทำให้เขาตั้งหลักเกณฑ์ของการเลือกนักเตะเข้าทีม (ทั้งซื้อขาดเเละเเบบยืมตัว) โดยเน้นไปที่ช่วงอายุระหว่าง 17-23ปี โดยในทีมจะมีนักเตะรุ่นพี่ที่อายุไม่เกิน28ปีเเค่2-3คนคอยพยุง ด้วยเหตุผลที่ว่า นักเตะรุ่นๆเเข้งขากำลังดี, ความฟิตได้ เเละที่สำคัญคือเล่นด้วยความกระหายเเละทะเยอทะยานเพราะทุกคนต่างต้องการเเจ้งเกิดให้ได้กับทีม
เเละนั่นแหละคือที่มาของวีรกรรมจากลีกา2สู่เเชมเปี้ยนลีก(ที่ไลป์ซิก) เเละดับเบิ้ลเเชมป์ในปี2013 ของ Red Bull Salzburg แบบที่ในลีก มีเเต้มทิ้งอันดับสองมากถึง18เเต้ม ในขณะที่บอลถ้วย ยิงได้มากถึง34ลูกเเละเสียเพียงเเค่4เม็ดตลอดทั้งทัวร์นาเม้นต์
ทีมชาติไทยล่ะ จุดที่น่าสนใจที่ผมยก ราฟ รังนิค ขึ้นมาเป็นตัวอย่างนั่นคือ บนความสำเร็จในตำแหน่ง ผอ.เทคนิกของเขา มาจากความคลุกคลีอยู่กับฟุตบอลเยอรมันบ้านเกิดมาอย่างยาวนานเกิน 30ปี เรียกง่ายๆว่า "รู้ทุกต่อม ทุกอณู" เเต่ทีมชาติไทยล่ะ..เราจะหาคนแบบนี้ได้ที่ไหน เเละถ้าเกิดหาไม่ได้ ใครล่ะ? เหมาะสมกับตำแหน่งนี้?
แม้ในวันนี้จะยังไม่มีคำตอบที่ว่า ฟุตบอลเอ็นเตอร์เทนกับบอลหวังผล อย่างไหนจะดีกว่ากัน, หน้าตาของ ผอ.เทคนิคจะเป็นใคร และไทยแลนด์เวย์จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ การเข้ามาของผอ.เทคนิคของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย (ครั้งนี้) กับตัวงานที่รออยู่ (2รายการใหญ่ใกล้ตัวและแผนงานในอนาคตที่เตรียมไว้) กับความคาดหวังของแฟนบอลชาวไทยต่อไปหลังจากนี้ เชื่อเหลือเกินว่าคงมีอะไรใหม่ๆให้ได้เห็นเป็นแน่
ที่สำคัญ..แฟนบอลอย่างเราๆ อาจได้เห็นรูปแบบการเล่นใหม่ๆของทีมชาติไทย รวมไปถึงมิติที่เพิ่มขึ้นในการเข้าทำเพราะอย่าลืมว่า สมค.ตั้งโจทย์ไว้ให้โค้ชราเยวัช ว่าต้องเเชมป์เท่านั้นในซูซูกิคัพเเละเราไม่สามารถเรียกใช้งานตัวจากญี่ปุ่นได้ นั่นก็หมายความว่า อาจมีดาวดวงใหม่ได้เกิด
กระบวนการคัดสรรพึ่งจะเริ่ม มาลุ้นกันว่าหัวหน้าเซฟ (ที่กำลัง) จะเข้ามาใหม่จะเป็นใคร
อดใจรอกันอีกซักนิด ให้เวลาห้องครัวได้เซ็ตกันใหม่ เชื่อเหลือเกินว่าเมนูจานต่อไป ต้องอร่อยแน่
ที่มาข้อมูลประกอบ:
http://beautyfootball.fr/index.php/2016/12/03/le-rb-leipzig-du-football-enthousiasmant-pour-bousculer-la-bundesliga/https://en.wikipedia.org/wiki/Roger_Schmidt_(football_manager)https://en.wikipedia.org/wiki/2013%E2%80%9314_Austrian_Football_Bundesligahttps://en.wikipedia.org/wiki/2013%E2%80%9314_Austrian_Cup#Finalhttps://www.fourfourtwo.com/features/7-best-sporting-directors-world-football-right-nowhttps://en.wikipedia.org/wiki/Ralph_Hasenh%C3%BCttl