ช่วงนี้ไม่ได้ออกเที่ยวไกลๆ ก็ต้องหาที่ใกล้บ้านเที่ยวเอาตามประสาคนอยู่เฉยนานๆไม่ได้ กับระยะทาง 20 กว่า กิโลเมตร ก็นำว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ กับโบราณสถาน ที่เคยเป็นแค่ทางผ่านตลอดมา ปราสาทนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
ประวัติ
ในปี พ.ศ. 2174 หลังจากที่พระเจ้าปราสาททองทรงครองราชย์ได้ 2 ปี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทที่เมืองพระนครหลวงแห่งกัมพูชา เพื่อให้เป็นทั้งศาสนสถานเช่นวัดทั่วไป และเป็นที่ประทับระหว่างทางยามพระองค์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี ตามโบราณราชประเพณี สันนิษฐานว่าปราสาทนครหลวงสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลนั้น คงปล่อยทิ้งร้างหลังกรุงแตกเรื่อยมา จนในสมัยรัตนโกสินทร์ ตาปะขาวปิ่นได้สร้างต่อเป็นวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2352 (ตรงกับรัชกาลที่ 1) ชาวบ้านเรียกว่า วัดนครหรือวัดนครหลวง วัดนี้กลายเป็นวัดใหญ่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเชิญชวนให้พระบรมวงศานุวงศ์และชาวบ้านร่วมกันบูรณะ ได้สร้างมณฑปที่มุมหักศอกและระหว่างกึ่งกลางระเบียงคด เชื่อมต่อกันด้วยวิหารคดแทนของเดิมที่พังทลายลง
สิ่งน่าสนใจ
ปราสาทนครหลวง ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งทำขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูง มีระเบียงล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แต่ละชั้นมีประตูเข้าสู่ชั้นสูงสุดนับสิบประตู ระเบียงคดแต่ละชั้นสร้างปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม และที่กึ่งกลางก็มีปรางค์ด้วย ในปราสาทมีสิ่งที่น่าชมคือ
ปรางค์ มี ทั้งหมด 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอม แต่ก่อด้วยอิฐ ไม่ใช่ศิลาแลง องค์ปรางค์มีการย่อมุมไม้ยี่สิบ หมายถึงมุมหนึ่งทำเป็นมุมเล็กได้ห้ามุม (สี่มุมคูณด้วยห้าจึงมี 20 มุม) จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า การสร้างปรางค์ของเดิมใช้โครงไม้ขึ้นรูปก่อนแล้วก่ออิฐล้อตาม
ระเบียงคด คือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ ปัจจุบันเหลือแต่ผนังของระเบียงคด ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าช่างได้ทำช่องหลอกไว้เป็นซี่คล้ายลูกกรง เรียกว่า ลูกมะหวด ช่องดังกล่าวนี้ตัน อากาศและแสงไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ เป็นลักษณะศิลปะแบบขอม คล้ายกับโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ วัดมหาธาตุ วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ
พระพุทธบาทสี่รอย นายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่นเป็นผู้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับวัดนครหลวง มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอย ลึกลงไปในเนื้อหิน รอยที่ใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 ม. ยาว 5.50 ม. ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวงที่มณฑปมีจารึกที่หน้าบันว่า ปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446 ใน รัชกาลที่ 5)
ตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ต. พระจันทร์-ลอย อ. นครหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวงมาประดิษฐานไว้ แผ่นหินพระจันทร์ลอยมีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ม. หนา 6 นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลักที่ค่อนข้างดูยาก ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน มีผู้สันนิษฐานว่าแผ่นหินดังกล่าวอาจเป็นธรรมจักรที่ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็น ได้ ( เครดิตข้อมูลจาก Nairobroo.com ครับ)


